การประมาณขนาดประชากรด้วยเทคนิค Capture-Recapture (Estimation population size based upon Capture-Recapture technique)

วิทยากร: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะ ลาน้ำเที่ยง
อาจารย์ ดร.รัชนีวรรณ วงศ์พระจันทร์


การประมาณขนาดของประชากรเป็นปัญหาหรือคำถามวิจัยในหลายสาขาวิชาที่ต้องการทราบจำนวนที่แท้จริงของประชากรเป้าหมาย
โดยไม่ต้องทำการแจงนับทุกหน่วย (สำมะโน) เช่น ด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาต้องทราบขนาดของประชากรสัตว์ป่า ความชุกของสัตว์แต่ละชนิด
ในพื้นป่าแต่ละแห่ง ด้านสังคมศาสตร์อาจจะมีข้อคำถามเกี่ยวกับการการประมาณค่าจำนวนคนเร่ร่อนไร้ที่พัก จำนวนผู้ทำผิดกฎหมาย
จำนวนผู้หลบหนีเข้าเมือง จำนวนผู้ขายบริการทางเพศ จำนวนผู้ใช้สารเสพติด และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพก็อาจจะมีคำถามวิจัย
ที่ต้องการทราบ จำนวนผู้ติดเชื้อด้วยโรคร้ายแรง ความชุกหรือความหนาแน่นของการระบาดของโรคในแต่ละพื้นที่หรือคาบเวลา
จำนวนผู้ป่วยที่ไม่ได้บันทึกอยู่ในระบบเวชระเบียน


เทคนิค Capture-Recapture เป็นวิธีที่นิยมอย่างแพร่หลายในการประมาณขนาดของประชากร ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในงานทางชีววิทยา
เพื่อใช้ในการประมาณขนาดของประชากรสัตว์ป่า แต่ปัจจุบันนี้เทคนิคนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในการประมาณขนาดของประชากรมนุษย์ตามลักษณะเป้าหมายต่าง ๆ เทคนิค Capture-Recapture จะมีการชักตัวอย่างซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งของการชักตัวอย่าง
หน่วยตัวอย่างที่สุ่มได้จะมีการกำหนดรหัสแบบ Unique และปล่อยกลับคืนสู่ประชากรธรรมชาติ
ดังนั้น หน่วยทุกหน่วยจะมีโอกาสที่จะถูกสุ่มซ้ำตลอดระยะเวลาการศึกษา


จากการชักตัวอย่างแบบ Capture-Recapture ข้อมูลที่สนใจคือการแจงนับความถี่ของการปรากฏซ้ำ
ดั้งนั้น ตัวประมาณค่าขนาดของประชากรจะถูกพัฒนาภายใต้ของสมมติเบื้องต้นของความน่าจะเป็นในการปรากฏซ้ำ
ซึ่งข้อสมมติเบื้องต้นที่เหมาะสมสำหรับตัวแบบนี้ คือ การแจกแจงปัวซง ปัจจุบันมีตัวประมาณค่าที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
ที่พัฒนาภายใต้ข้อสมมตินี้ คือ Maximum Likelihood Estimator, Chao's Estimator (1987), Zelterman’s Estimator (1988),
good-Turing’s Estimator (1992), Lanumteang & Böhning Estimator (2011) และ Kumphakarm & Ridont Estimator (2016) เป็นต้น


สำหรับการบรรยายพิเศษ/อบรมเชิงปฏิบัติการนี้ วิทยากรจะนำเสนอแนวคิดและวิธีการประมาณขนาดประชากรตามวิธีการต่าง ๆ
ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ตลอดจนฝึกปฏิบัติจากข้อมูลและตัวอย่างการประยุกต์ในการประมาณขนาดประชากรจากงานวิจัย
และข้อมูลจริงทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

Stat @ Maejo University